ดูบทความ
ดูบทความพื้นที่จอดรถทรุดตัว
พื้นที่จอดรถทรุดตัว
เมื่อบ้านของท่านเกิดปัญหาแตกร้าว ผนังร้าวเป็นสายงา ท้องพื้นมีรอยแตกเป็นแนวยาว ปกติท่านจะทำอย่างไรครับ บางคนปรึกษาข้างบ้าน, ตามช่างแถวบ้านมาดู หรือแม้จะโทรมาถามที่ วสท. คำตอบที่ได้บางครั้งก็ไม่ตรงกัน บ้างก็ว่าไม่เป็นไร เป็นเรื่องปกติ บางท่านเกิดวิตกจริตจนนอนไม่หลับ จึงอยากเรียนว่าทุกปัญหาแก้ไขได้ครับ แต่ต้องใช้ให้ถูกคนนะครับ บางครั้งยิ่งแก้ก็ยิ่งพัง ผมพยายามจะให้ความรู้เป็นแนวทางกับท่านว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้น เป็นปัญหาใหญ่หรือไม่ และจะต้องเข้าไปแก้ไขอย่างไร แต่ไม่ถึงขั้นสอนให้ท่านเป็นผู้รับเหมาแก้ไขเองได้ เพราะการซ่อมแซมโครงสร้างจำเป็นต้องใช้เครื่องมือและวัสดุพิเศษในการซ่อม และในบางกรณีค่อนข้างอันตรายที่จะซ่อมแซมเอง หากเกิดปัญหากับโครงสร้างหลักของบ้าน
หลักการที่สำคัญในการซ่อมแซมโครงสร้างคือ จะต้องทราบต้นเหตุที่ทำให้โครงสร้างเสียหายเสียก่อน แล้วกลับไปแก้ไขต้นเหตุ จึงจะกลับมาซ่อมโครงสร้างที่เสียหาย เพราะหากซ่อมไปโดยไม่ทราบว่าเกิดจากอะไรก็จะไม่สามารถหายขาดได้ โดยขอยกตัวอย่างปัญหาและการซ่อมแซมที่มักพบอยู่บ่อย ๆ เพื่อเป็นตัวอย่างดังนี้
พื้นที่จอดรถทรุดตัว มักจะเกิดกับโครงการบ้านจัดสรรและเป็นในช่วงปีแรก ๆ ในการเข้าอยู่ หากเป็นหมู่บ้านเก่ากรณีนี้จะน้อยลง สาเหตุที่พื้นจอดรถมักจะทรุดตัวก็เนื่องจากบริเวณที่จอดรถมักจะออกแบบเป็นพื้นแบบวางกับดิน และบริเวณดังกล่าวมักจะบดอัดได้ไม่ดี หรือบางโครงการก็เพียงถมทรายแล้วใช้เครื่องตบทรายขนาดเล็ก แล้วเทคอนกรีตพื้นทับเลย สาเหตุที่มักจะเป็นกับโครงการหมู่บ้านใหม่ก็เพราะปกติจะต้องถมดินเพื่อยกระดับของบ้านในโครงการ เมื่อถมยิ่งสูงการทรุดตัวในช่วงต้นจะค่อนข้างมาก
ซึ่งหากปัญหาที่พบไม่มากนักคือทรุดตัวไม่มากนั้น ก็น่าจะทำเพียงการตัดขอบของพื้นส่วนที่ก่อสร้างไปชนกับตัวบ้านให้มีความกว้างประมาณ 5 ? 10 ซ.ม. แล้วโรยด้วยกรวดแม่น้ำเพื่อไม่ให้พื้นไปดึงกับส่วนของคานบ้าน
แต่หากเกิดทรุดตัวค่อนข้างมากแล้วอยากเทใหม่ แนะนำว่าควรจะทำการตอกเสาเข็มสั้นกระจายเต็มพื้นที่ เพื่อลดอัตราการทรุดตัว เสาเข็มที่ใช้อาจเป็นเสาเข็มปูนหรือไม่ก็ได้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ? 0.15 ม. ความยาว 2 ? 4 เมตร ตอกเป็นตาราง 1 เมตร x 1 เมตร
11 ตุลาคม 2560
ผู้ชม 3539 ครั้ง